คุณธรรมของสื่อเสรี
โดย วีระยุทธ โชคชัยมาดล
“เสรีภาพของสื่อ” กับ “ เส้นแบ่งทางคุณธรรม” กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมพูดถึงกันมากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งอันมีสาเหตุมาจากแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกัน จนนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในสังคม สื่อมวลชนได้มีบทบาทอย่างมากในการนำเสนอข่าวและความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมาตลอดว่า มีส่วนอย่างมากในการทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียด จนนำไปสู่การเผชิญหน้าของกลุ่มคนที่ใส่เสื้อต่างสี
การพาดหัวข่าว การนำเสนอภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมถึงการนำเสนอวาทะที่กลุ่มที่เป็นปรปักษ์ตอบโต้กันไปมา ทำให้คนทั่วไปที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ชมโทรทัศน์ มีความรู้สึกร่วมไปกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะรัก ชอบ โกรธหรือเกลียด จนกลายเป็นความรู้สึกร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม
สื่อมวลชนเองยืนยันมาตลอดว่าประชาชนต้องมีเสรีภาพในการรับรู้ข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของประโยคอมตะของแวดวงสื่อมวลชนที่ว่า “ เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน” แต่ในทางกลับกัน สื่อมวลชนก็ถูกตั้งคำถามถึงจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าข้อเท็จจริงระดับใดถือเป็นการรายงานเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนผู้เสียภาษี และข้อเท็จจริงระดับใดที่ถือเป็นการราดน้ำมันลงไปในกองไฟที่มีแต่ก่อความเสียหายให้แก่บ้านเมือง
"ไม่ว่าจะเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียม
จิตสำนึกในฐานะคนที่นำข่าวสารมาถ่ายทอดต่อสาธารณะ
ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก"
การนำเสนอคำพูดเชิงยั่วยุของนักการเมือง ทหารหรือตำรวจที่มีผลได้-เสียกับการแย่งชิงอำนาจการบริหารประเทศ หรือการนำเสนอภาพที่มีป้ายข้อความเขียนสาปแช่งคนที่ตนเองขับไล่ด้วยถ้อยคำหยาบคายแบบที่ใช้กันในหมู่ผู้ร่ำสุรากลายเป็นกรณีถกเถียงกันว่า เป็นการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นการทำให้คนในสังคมเกลียดชังกันมากยิ่งขึ้น การนำเสนอในรูปแบบเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้นให้ประโยชน์กับสังคมหรือเป็นแค่การขายข่าวที่สร้างรายได้ให้กับสื่อที่นำเสนอเอง
ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ได้ครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดานักการเมือง นักธุรกิจ ดารา นักร้อง ที่ใช้พื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ ในการนำเสนอประเด็นข่าวที่นำมาเล่าต่อหรือฟังมาอีกทอดหนึ่ง โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนในการผลิตแต่อย่างใด แต่กลับบรรยายเหตุการณ์ได้อย่างสนุกปากจนเหมือนกันไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งในบางกรณีก็แฝงเอาวาระซ่อนเร้นของตนเองไว้ในเนื้อข่าว
นักสื่อสารมวลชนเรียกบรรดา “ นักเล่า” ดังกล่าวว่า “ สื่อเทียม” ลงทุนด้วยการซื้อหนังสือพิมพ์มาวันละไม่กี่ฉบับแล้วอ่านเนื้อความไปตามที่เห็น จินตนาการภาพของเหตุการณ์ตามประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาและยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ยกสถานภาพของตนขึ้นเป็นระดับเดียวกับผู้พิพากษา พยายามชี้เป็นชี้ตายชะตาชีวิตของผู้ที่ตกเป็นข่าว อีกทั้งพยายามชักจูงให้ผู้รับสารเชื่อในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง แทนที่จะรายงานเฉพาะข้อเท็จจริงแล้วให้ผู้รับสารตัดสินเอาเองว่าควรจะเชื่อฝ่ายใดหรือควรจะทำอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียม จิตสำนึกในฐานะคนที่นำข่าวสารมาถ่ายทอดต่อสาธารณะถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก อะไรคือสิ่งที่คน “ อยากรู้” และอะไรคือสิ่งที่คน “ ควรรู้”
หากถามว่า “ อะไรคือข่าว” บรรดานักข่าวชาวตะวันตกมักจะตอบติดตลกว่า “ หมากัดคนไม่ใช่ข่าว ถ้าคนกัดหมาเป็นข่าว” แต่เมื่อมองความจริงในสังคมไทยแล้วอาจจะไม่ตลกเท่าไร เพราะบรรทัดฐานดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดในวงการสื่อไทย ธรรมชาติของคนคืออยากรู้อยากเห็น แต่หากถามว่ามีเรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและคนควรรู้บ้าง คงหาแทบไม่ได้ในยุคที่สื่อต่างๆ แข่งกันทำรายได้ โดยมุ่งเน้นความเร็วและความแปลกใหม่ จนไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เที่ยงตรง เหมาะสมและผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
บรรทัดฐานที่ว่าสื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่เพียงนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องมีจิตสำนึกในการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม กำลังกลายเป็นคุณธรรมที่เลือนหายไปหากยังไม่ริเริ่มการปฏิรูปสื่อสารมวลชนอย่างจริงจัง
ที่มา
http://www.rsunews.net/Editor's%20Talk/1st/ETpage.htm