ชุมชน"ช่าง"ในเวียงเชียงใหม่ |
1.คำว่า"ช่าง"ในวัฒนธรรมล้านนา
ในวัฒนธรรมล้านนาคำว่า"ช่าง"(อ่านว่า"จ้าง")มีหลายความหมายแบ่งได้ดังนี้
(1)เป็นคำกริยาหมายถึงทำได้หรือทำเป็น เช่น ช่างเยียะกิน
คือทำกับข้าวหรือปรุงอาหารเก่ง ซึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียก"ช่างแกงกิน"
(2)ใช้ในทางปฏิเสธ เช่น บ่ช่าง (อ่านว่าบ่จ้าง")หมายถึงไม่เป็น ไม่สามารถ
ไม่เก่ง เช่นตำนานพระยาเจืองกล่าวว่า "ข้าแต้มบ่ช่างแล"
ในวรรณกรรมเรื่องแสงเมืองหลงถ้ำใช้ในความหมายไม่สามารถเช่น
"บัดนี้เราก็บ่ช่างจักรับเอาไมตรีของฝากกับท่านทั้งหลาย"
(3)ใช้เป็นคำวิเศษณ์ เช่น ช่างเทอะ คือช่างเถิดหมายถึงไม่เอาเป็นธุระด้วย
หรือในความหมายว่ามักจะ หรืออาจจะ เช่น ในวรรณกรรมเรื่องโคลงหงษ์ผาคำกล่าวว่า
"เพื่อเขาช่างอู้อวด" "เขาช่างไปส่อ" นางช่างคิดช่างหย้องดูเถิง
ช่างเชา หมายถึงเชี่ยวชาญหรือฉลาดในการช่าง
ช่างซ้าย หมายถึงถนัดซ้าย บางครั้งเรียก"ขื้ซ้าย"
(4)ใช้เป็นคำนาม เช่น
1)ช่างเคริ่ง หมายถึงตราชู หรือตาชั่งแบบจาน
2)ช่างมั่ง เป็นชื่อที่คนเชียงใหม่เรียกแหนเครือตัวผู้ซึ่งเป็นพรรณไม้เถา
3)ช่างช้าหมายถึงข้าทาส
4)ช่างชินหมายถึงช่างผู้ชำนาญการ
5)ช่างปองหมายถึงคนมีอุบายหรือมีความคิดริเริ่ม
6)ช่างเหล้นเบ้ยช่างเหล้นแท่นหมายถึงนักการพนัน ปรากฎในอนุโลกกฎหมายโบราณว่า
คนช่างเหล้นเบ้ยเหล้นแท่นนี่ง"
7)แม่ช่างหมายถึงหมอตำแย
เป็นต้น
(5)หมายถึงผู้ชำนาญงานอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือช่างในความหมายทั่วไปซึ่งตรงกับภาษาพม่าว่า"สล่า"(อ่านว่าสะหล่า)ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่มีความว่า"พระเปนเจ้าหื้อช่างผู้นั้นมาแปลงหน้าไม้"
หรือในตำนานโยนกนาคนครชยบุรีศรีช้างแส่นมีความว่า
"แล้วก็หื้อช่างทังหลายมาห้างยังโขดเงินโขดคำ"
ช่างในความหมายผู้ชำนาญนี้มีปรากฎในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทลายลักษณ์เช่นกฎหมายและวรรณกรรมจำนวนมากเช่น
1).ช่างขายคือ พ่อค้าแม่ค้า
2)ช่างเครื่อง คือช่างทำอาวุธ
ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ความว่า"จัดแจงเอาช่างคล้อง 2นายช่างเครื่อง
ช่างเงิน"
3)ช่างเคิ่ง คือช่างทำเครื่องประดับตกแต่ง ปรากฏในจารึกล้านนา "ช่างเหล็ก
ช่างเคิ่ง ช่างเงิน ช่างคำ"
4)ช่างช้อย(อ่านจ้างจ๊อย)คือผู้ขับลำนำจากคำประพันธ์ประเภทคร่าวซอ
ปรากฏในวรรณกรรมโคลงหงษ์ผาคำว่า
"นักคุณทังฝูงช่างช้อยช่างซอเพิง"(นักคุณหมายถึงนักดนตรีหรือนักแสดง)
5)ช่างซอ คือนักขับเพลงซอ ปรากฏในโคลงหงษ์ผาคำกล่าวว่า
"นักคุณทังฝูงช่างช้อยช่างซอเพิง"
6)ช่างฟ้อน หรือช่างฟ้อนคือนางรำ ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า
ผิข้าช่างฟ้อนช่างตีกลอง"
7)ช่างปล้ำ คือนักมวยปล้ำ ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องโลกนัยชาดกว่า
"เป็นลูกแห่งมัลละคือว่าเป็นลูกช่างปล้ำ"
8)ช่างกลองต็อบคือช่างทำหรือนักเล่นกลองสองหน้าขนาดเล็ก
9)ช่างแก้วแหวนเงินคำคือช่างทำเครื่องประดับ
10)ช่างของมาลาดอกไม้คือผู้ร้อยกรองดอกไม้
ปรากฏในตำนานโยนกนาคนครชยบุรีศรีช้างแส่นว่า"เมื่อนั้นชาวช่างของมาลาดอกไม้ผู้นั้นได้หันพระพุทธเจ้า"
11)ช่างขีดหรือช่างขีดลาย คือช่างวาด
ปรากฏในมหาชาติภาคพายัพว่า"จักหื้อช่างขีดลายลวงลายดอกดวงเกี้ยวรอด"
12)ช่างค้อง หรือช่างคล้อง (อ่านว่าจ้างก๊อง)คือช่างทำฆ้อง
หรือนักดนตรีผู้ตีฆ้อง
ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ผิว่าฟันช่างแปลงกองช่างค้อง"
13)ช่างคำคือช่างทำทอง ปรากฏในตำนานพระยาเจืองว่า "อันช่างคำหากติดต่อด้วยคำ"
14)ช่างเงินคือช่างทำเครื่องเงิน ปรากฏในมังรายศาสตร์ว่า "มิได้เงินปลอม
หื้อช่างเงินช่างคำผู้รู้ดู"
15)ช่างต้องคือช่างแกะสลักหรือช่างทำลวดลาย
ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ช่างต้องตายได้เสียเงิน 4 ร้อยบาด"
16)ช่างตีกลอง หรือช่างตีกอง คือคนตีกลอง ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า
"ผิข้าช่างฟ้อรช่างตีกองช่างเป่าคุ่ยหื้ตาย"
17)ช่างตีกลองคำ คือพนักงานตีกลองของกษัตริย์ ปรากฏในมหาชาติภาคพายัพว่า
"ช่างตีกลองคำกลองเงินและช่างหุ้ม จุ่งตีแต่คุ้มเราไป"
18)ช่างตีทองคือช่างทำเครื่องทองเหลือง ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่า
"พระเจ้าไปเมืองพะยาวจวบช่างตีทองผู้ 1"
19)ช่างตีละคุย(อ่านว่าจ้างตี๋ละกุย)หรือช่างชกคือนักมวย
ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า "ผิช้าช่างตีละคุยตายได้เสียเงิน 5 ร้อยบาด"
ในวรรณกรรมเรื่องหงษ์ผาคำว่า "ทั้งช่างชกช่างลายเชิง วิดวิ่ง ไปนัน"
20)ช่างแต้มคือช่างวาดหรือช่างเขียน
ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ช่างแต้มตายได้เสียเงิน 5 ร้อยบาด"
21)ช่างถากไม้ คือช่างไม้ ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
"เจ้ามังรายก็หื้อหาช่างไม้ผู้ชื่อกานโถมมา"
22)ช่างทอหูกคือช่างทอผ้า ปรากฏในอนาคตวงศ์ว่า "แล้วก็เลือกเอาช่างทอหูทังหลาย"
23)ช่างธะล้อคือช่างทำสะล้อ หรือคนสีสะล้อ
ปรากฎในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ผิข้าฟันช่างสว่า ช่างธล้อ สีซอตาย"
24)ช่างปั้นหม้อ
เช่นตำนานพระเจ้าเลียบโลกกล่าวว่า"ถึงบ้านกุมภเศรษฐีช่างปั้นหม้อขายกินเป็นนายบ้าน"
25)ช่างเป่าคุ่ยคือช่างเป่าขลุ่ย
เช่นในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณมีความว่า"ผิข้าช่างฟ้อรช่างตีกองช่างเป่าคุ่ยหื้ตาย"
26)ช่างแปงเรือคือนายช่างสร้างเรือ
ปรากฎในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ผิว่าข้าฟันช่างแปงเรือ"
27)ช่างแปงกองหรือช่างแปลงกองคือช่างทำกลอง ปรากฎในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า "ผิว่าข้าฟันช่างแปลงกองช่างค้อง"
28)ช่างแปลงช่อขาวสัตขาวคือคนทำธงและฉัตรสีขาว
ปรากฎในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ผิข้าฟันช่างแปลงช่อขาวสัดขาว"
29)ช่างแปลงรูปคือช่างปั้น เช่นในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณกล่าวว่า"ผิข้าฟันช่างแปลงรูป"
30)ช่างสนคือช่างปักหรือชุนผ้า ปรากฏในกฎหมายมังรายศาสตร์ว่า
"เอาแก้วควรค่าร้อยคำใส่ไว้ยถงแทนแล้วหื้อช่างสนผู้ฉลาดสนไว้ย"
31)ช่างสว่า คือช่างทำฉาบหรือบรรเลงฉาบเก่ง
ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า"ผิข้าฟันช่างสว่า ช่างธล้อ สีซอตาย"
32)ช่างสานคือช่างจักสาน ปรากฎในอนาคตวงศ์ว่า
"พ่อลูกอันเป็นช่างสานอยู่ในเมือง"
33)ช่างเหลกคือช่างเหล็ก ปรากฎในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณว่า "ช่างซอนึ่ง
ช่างทองนี่ง ช่างเหลกนี่ง"
34)ช่างโหราคือโหรหรือหมอดู
ปรากฏในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณความว่า"ผิว่าหมอยาช่างโหราได้เสียเงินสี่ร้อย"
35)ช่างเอาท้ายเรือคือนายท้ายเรือ
ปรากฎในอนุโลมญาณกฎหมายโบราณความว่า"ผิข้าฟันจ่าช้างจ่าม้าช่างเอาท้ายเรือตายได้เสียเงิน"
36)ช่างหรินคือช่างอิฐช่างปูน
ปรากฏในหัตถกัมมวินิจฉัยบาฬีการอมสมมุติราชความว่า"จิ่งตั้งผู้รู้กัมมกรสาตรไว้หื้เปนช่างไม้ช่างหริน"
37)ช่างหุ้มคือพนักงานหุ้มกลองเพื่อให้ใช้การได้และอาจหมายถึงพนักงานแห่ด้วย
ปรากฏในมหาชาติภาคพายัพว่า "ช่างตีกลองคำกลองเงินและช่างหุ้ม
จุ่งตีแต่คุ้มเราไป"
38)ช่างลาขัดเขิงคือนักรำดาบ ปรากฎในคร่าวซอหงส์ผาคำ ว่า"ทังหมู่ช่างฟ้อน
ช่างลาขัดเขิง ฝูงแกว่นเชิง"(ดู สารานุกรมวัฒนธรรมไทย(ภาคเหนือ) เล่ม 4 กรุงเทพ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมสารานุกรมไทย 2542 หน้า 1827-1830)(39) ช่างจอด หมายถึง ช่างเชื่อม เช่น ช่างเชื่อสังกะสี หลังวัดหนองคำซึ่งมีเชื้อสายตองซู่ เป็นต้น
นอกจากนั้นคำว่า"ช่าง"ในความหมายว่าผู้ชำนาญยังตรงกับคำในภาษาพม่าว่า"สล่า"(อ่านว่าสะหล่า")
ในล้านนาซึ่งได้รับวัฒนธรรมพม่ายาวนานจึงมีคำเรียกช่างว่า"สล่า"เช่น
1)สล่ากลองคือช่างทำกลองหรือคนชำนาญในการตีกลอง
2)สล่าแนคือช่างทำปี่ หรือคนชำนาญในการเป่าปี่
3)สล่าสานคือช่างจักสาน
4)สล่าหย้องคือช่างตกแต่ง
5)สล่าเค้าคือนายช่างใหญ่ หรือหัวหน้าช่าง
เป็นต้น (ดู สารานุกรมวัฒนธรรมไทย(ภาคเหนือ)เล่ม 13
กรุงเทพ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย 2542 หน้า 6643)
คำเรียก"ช่าง"หรือ"สล่า"ที่ปรากฎในเอกสารประเภทกฎหมายและวรรณกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นกลุ่มคนที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่จริงในสังคมล้านนา
1. ชุมชนช่างก่อนสมัยราชวงศ์มังราย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์เช่นตำนานจามเทวีวงศ์ทำให้ทราบร่องรอยของชุมชนช่างในช่วงก่อนพญามังรายสถาปนาราชวงศ์มังราย
ใน พศ.1839
ดังตำนานได้กล่าวว่าเมื่อครั้งพระนางจามเทวีเสด็จจากละโว้มาหริภุญไชยเมื่อประมาณ
พศ.1310-1311 พระนางจามเทวีได้นำคณะบุคคลต่อไปนี้มาไว้ที่ลำพูน
(1)มหาเถรเจ้าทั้งหลาย ฝูงอันทรงพระไตรปิฎก 500 คน
(2)คนฝูงเป็นผ้าขาว อันตั้งอยู่ในศีล 5 ศีล 8 จำนวน 500 คน
(3)ช่างสลัก 500 คน
(4)ช่างแก้ว 500 คน
(5)ช่างเงิน ช่างคำ ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างต้อง ช่างแต้ม ช่างไม้ อย่างละ 500
คน
(6)หมอโหรา หมอยา พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง พ่อเวียก พ่อการ อย่างละ 500 คนนับเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทลายลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงกลุ่มช่างต่างๆสมัยหริภุญไชยอย่างชัดเจน ช่างดังกล่าวต่างได้ทำงานช่างในลำพูนซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นลายลักษณ์หลงเหลือจำนวนหนึ่งสืบมาถึงปัจจุบันโดเฉพาะที่วัดในเวียงลำพูนเช่นวัดดอนแก้ว วัดพระธาตุหริภุญไชย วัดเชตวัน วัดกู่กุด วัดมหาวัน วัดละมักฯลฯและเวียงร่วมสมัยหริภุญไชยเช่นเวียงมโน เวียงท่ากาน เวียงเถาะ ฯลฯรวมทั้งเมืองร่วมสมัยเช่นเขลางค์นคร(ดู สรัสวดี อ๋องสกุล ประวัติศาสตร์ล้านนากรุงเทพ:สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2544 หน้า 58-65 และสรัสวดี อ๋องสกุลชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน กรุงเทพ:มูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น 2543 )
2.ชุมชนช่างสมัยราชวงศ์มังราย
พญามังรายกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาวองค์ที่ 25 แห่งลุ่มน้ำแม่กกได้สร้างเมืองเชียงรายเมื่อ พศ.1805 ด้วยกำลังคนที่เป็นช่างต่างๆจำนวนหนึ่งได้มีแผนเข้ายึดครองหริภุญไชยแห่งลุ่มน้ำแม่ปิง ซึ่งประสบผลสำเร็จเมื่อ พศ.1835โปรดฯให้สร้างเวียงกุมกามที่ริมแม่น้ำปิงเมื่อ พศ.1837ครั้งนั้นมีศึกกับพญาอังวะ
ตำนานกล่าวว่าพญาอังวะได้มอบหมู่ช่างให้แก่พญามังรายมีความตอนหนึ่งว่า"กูใส่ใจว่าเจ้าล้านนาผู้มีเตชะจักมากำจัดบ้านเมืองเราเสียฤาว่าอั้น เท่าว่าใคร่ได้ช่างฆ้องสันนี้เราควรแต่งช่างฆ้องผู้สลาดเถิงดีนักนั้นสองนาย และช่างเครื่อง ช่างเงิน ช่างคำช่างทอง ช่างเหล็ก ทังหลายประมาณว่าได้ 500 ครัวมาถวายแก่เจ้าพระยามังรายเจ้าพระยามังรายก็เอาช่างตีคำมาไว้เชียงตุงเอาช่างฆ้องและพวกหานบ้านมาไว้เชียงแสน เอาช่างเครื่อง ช่างคำ ช่างทองช่างเหล็กมาไว้กุมกาม ช่างทังหลายจิ่งมากับบ้านเมืองล้านนาต่อเท้าบัดนี้แล" (ดูตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับสอบชำระโดยสมหมาย เปรมจิตต์ เชียงใหม่:สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2540 หน้า 29)
ต่อมาพญามังรายได้พบที่ราบระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิงเห็นเป็นทำเลที่มีไชยมงคลจึงโปรดฯให้สร้างเมืองเชียงใหม่และสถาปนาราชวงศ์มังรายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พศ.1839 พญามังรายก็คงโปรดให้ครัวช่างต่างๆ ที่มีอยู่ทำงานในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ด้วยครั้งนั้นตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าได้ใช้กำลังคนที่เป็น"พ่อเวียก"(หัวหน้ากลุ่มคนที่ใช้แรงงาน)จำนวน 5 หมื่นคนสร้างราชมณเฑียร หอนอน คุ้ม โรงคัล เล้มฉาง โรงช้าง โรงม้าและใช้"พ่อเวียก"อีกจำนวน 4 หมื่นคนขุดคูเวียงก่อกำแพงเวียงทั้งสี่ด้าน ใช้เวลา 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ (พื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปีเชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ 2538 หน้า35-36)ซึ่งงานสร้างเมืองดังกล่าวล้วนเป็นงานช่างที่บรรดา"พ่อเวียก"ต้องควบคุมและดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด.
สมโชติ อ๋องสกุล ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือ พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ฉบับที่ 30 ประจำวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2545
credit
http://www.lannaworld.com/