
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นี้ ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การ เมืองไทย ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และจะเป็นบทพิสูจน์ว่าหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป มีการตั้งรัฐบาลตามวิถีทางรัฐสภาแล้วคนไทยจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ สุขหรือไม่ สังคมไทยจะกลับมาสู่ภาวะปรกติอีกหรือไม่
ทุกพรรคการเมืองเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ วันนี้เราจึงเห็นนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ เอาใจพ่อแม่พี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้มีสิทธิ์มาลงคะแนนเสียงเลือกพรรคของตนให้มาก ที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายบัตรเครดิตชาวนา พักหนี้ครัวเรือน แจกคอมพิวเตอร์โนตบุ๊กแก่เด็กนักเรียน การลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในกทม.สิบสาย และรถไฟรางคู่ในภาคอีสาน ของพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนผ่านไทยไป ถึงมาเลเซีย แจกโฉนดชุมชนให้เกษตรกร 250,000 คน หรือให้คนได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ฯลฯ
พรรคภูมิใจไทย สัญญาว่า จะทำให้เงินสะพัดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดละ 1,000,000 บาทต่อปี ประกันราคา ข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท ตู้เอทีเอ็มไร่นาเกษตรกร ถนนไร้ฝุ่นทั่วประเทศ ฯลฯ
พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน บอกว่าเกษตรกรไทยต้องรวย โดยขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อเกษตรกรเป็น 2 แสน 5 หมื่นล้านบาท สร้างเถ้าแก่เงินล้าน ให้ทุน 1 ล้านบาทสร้างผู้ประกอบการรายย่อย
นโยบายประชานิยมทั้งหมดคือการใช้เงินภาษีของพวกเราลงทุนให้เกิดการสร้างงาน เกิดการใช้จ่าย เกิดการก่อสร้างจากเมกกะโปรเจกมากมาย
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ นโยบายพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่มีนโยบายการปราบปรามคอรัปชั่นเลย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีพรรคการเมืองที่อาสามาเป็นรัฐบาลกล้าประกาศนโยบายปราบปรามคอรัปชั่น อย่างชัดเจน ราวกับทุกพรรคยอมรับว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับการคอรัปชั่นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
พรรคการเมืองอาจจะขัดแย้งกันในเรื่องอื่น อาจจะทะเลาะกันรุนแรงในหลายเรื่อง แต่สำหรับเรื่องคอรัปชั่นทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่า ปล่อยให้มันเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และตามน้ำกันอย่างเป็นกันเอง
เวลาพรรคฝ่ายค้านอภิปรายกล่าวหารัฐบาลว่าคอรัปชั่น ก็มักจะอภิปรายกันอย่างดุเดือด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าศึกน้ำลายกลางสภา เหมือนกับเล่นลิเกให้คนทางบ้านดูว่า ตอนนี้สวมบทอะไรอยู่ ก็ต้องเล่นไปตามบทนั้น สุดท้ายการคอรัปชั่นก็เดินหน้าต่อ ซ้ำร้ายยังหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ
สามสี่ปีก่อน บริษัทใดที่เคยรับเหมางานจากราชการ ก็มักจะจ่ายให้นักการเมืองและคนของรัฐมากสุดก็ประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ แต่มาบัดนี้มากขึ้นไปถึงร้อยละ 50
หมายความว่าหากเมกกะโปรเจกขนาดยักษ์มูลค่า 10,000 ล้าน บรรดานักการเมืองและข้าราชการประจำก็ร่วมมือกินกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
งบประมาณแผ่นดินปีล่าสุดตั้งไว้ 2 ล้านล้านบาท ไม่อยากนั่งคิดเลยว่า จะเป็นค่าคอรัปชั่นกันมหาศาลเพียงใด
ไม่น่าแปลกใจที่ใคร ๆ ก็อยากเป็นนักการเมือง อาชีพยอดปรารถนา นอกจากอำนาจที่คนมีสีคนมีเส้นยังไม่กล้าตอแยแล้ว ก็สามารถตั้งตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว
นักการเมืองบางคนที่เป็นใหญ่เป็นโตเวลานี้ สมัยก่อนเวลาไปเที่ยวกลางคืนไม่กี่บาท ยากจนถึงขนาดให้เพื่อนเลี้ยงตลอด พอเป็นนักการเมืองได้สมัยเดียวมีทรัพย์สินรวยเป็นพันล้าน
นักการเมืองไทยกับการคอรัปชั่นจึงเป็นของคู่กันมาตลอด ซื้อนักเลือกตั้งเข้าคอกไม่กี่พันล้านบาท แต่สามารถมาถอนทุนได้เมื่อเป็นรัฐบาลไม่กี่อึดใจ
โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ สร้างเสร็จก็เก่าและโทรมเลย คือตัวอย่างของการทุจริตคอรัปชั่นล่าสุด ที่รัฐบาลได้แต่ยืนดูโดยไม่ทำอะไรเลย
ที่ผ่านมามีการจัดอันดับประเทศที่คอรัปชั่นในเอเชีย จัดครั้งใด ประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่นน้อยที่สุด คือสิงคโปร์ ตามมาด้วยฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ส่วนประเทศไทยอันดับแย่ลงไปเรื่อย จากที่บ้านเราเคยโปร่งใส ทุจริตน้อยและ มีอันดับชนะอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม แต่ปัจจุบันหล่นลงมาจนเกือบอันดับบ๊วยรองจากฟิลิปปินส์
นักธุรกิจคนหนึ่งเคยเล่าว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน นักลงทุนจากต่างประเทศมักจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่าประเทศอินโดนีเซีย ที่การเมืองไม่มั่นคง และการทุจริตคอรัปชั่นมีมาก แต่ตอนนี้นักลงทุนหนีไปอินโดนีเซียกันส่วนใหญ่ เพราะหลายปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเอาจริงเอาจังกับการปราบคอรัปชั่น ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงมาก ขณะที่บ้านเราไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดมีนโยบายปราบปรามคอรัปชั่นอย่างจริงจัง เล่นปาหี่กันทุกรัฐบาล
ประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะมีการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรง และเด็ดขาด หรืออีกนัยหนึ่ง ประเทศจะพัฒนาได้ ต้องมีการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง
เมื่อสามสิบปีก่อนเมื่อครั้งฮ่องกงยังอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศ อังกฤษ ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกงได้ตั้งหน่วยงานปราบปรามคอรัปชั่นอย่างเข็มงวดและจริง จัง มีการสร้างกลไกต่าง ๆ ตั้งแต่หน่วยงานอิสระที่มีอำนาจเต็มในการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งส่วนใหญ่คือตำรวจนั่นเอง มีการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคธุรกิจในการเป็นหูเป็นตาให้กับทางการ เพื่อเอาคนทุจริตมาลงโทษอย่างเด็ดขาด
แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลฮ่องกงได้ให้การศึกษากับประชาชนให้เข้าใจว่า การทุจริตคอรัปชั่นคือมะเร็งร้ายที่ทำลายชาติ ก่อนที่คนฮ่องกงจะพากันมีค่านิยมที่ว่า คอรัปชั่นไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน เหมือนกับผู้คนในบางประเทศ
รัฐบาลฮ่องกงได้พยายามสร้างทัศนคติของผู้คนว่า การติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลง และเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี
ทุกวันนี้ฮ่องกงจึงครองตำแหน่งรองแชมป์ประเทศที่ทุจริตน้อยที่สุดในเอเชีย และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอิจฉา
เลือกตั้งที่จะถึงนี้ จึงไม่แปลกใจที่ไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าประกาศการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น
ไม่มีเลยแม้แต่ประโยคเดียว เพราะทุกพรรคล้วนแต่อดอยากปากแห้ง รอถอนทุนกันถ้วนหน้า
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2554
credit
http://www.onopen.com/vanchaitan/11-06-15/5807